วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

นักสร้างภาพ (อาหาร) ไอซีที

นักสร้างภาพ (อาหาร)
ทำอาหารอร่อย ก็ใช่ว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดัง ถ้าไม่รู้จัก “สร้างภาพ (ลักษณ์)” เป็นมืออาชีพ เคล็ดลับจึงอยู่ที่ “ดีไซน์” หน้าตาอาหารให้โดดเด้ง และทำ “ตัวเอง”ให้มีอัตลักษณ์ หาใครลอกเลียนแบบได้ยาก

15 ปีที่อยู่ในธุรกิจและอุตสาหกรรม อาหาร ทำให้ ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ กูรูนักสร้างภาพลักษณ์อาหารชื่อดัง มอง สถานการณ์ตลาดอาหารอย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่ว่าจะอาหารมาจากภัตตาคารหรือร้าน ตลาดล้วนฟ้องด้วยหน้าตาเป็นสำคัญ

อ้างอิงตัวอย่าง'สากล'
“อาหารเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ คำว่าศาสตร์อยู่ที่สูตรใครสูตรมัน มีโนว์ฮาวกันอยู่แล้ว ส่วนเรื่องของศิลป์ ขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนตัว ซึ่งจะต้องก้าวไปสู่สากลให้ได้โดยใช้ดีไซน์มาปรับ” กูรูด้านการออกแบบและตกแต่งอาหารกล่าว
เรื่องการออกแบบเป็นเรื่องที่เรียนรู้กันได้ บางคนอาจใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ด้วยตนเองจนเชี่ยวกรำ แต่นั่นไม่ใช่ประตูปิดตายสำหรับคนที่ต้องการเป็น “เชฟมือทอง” เพราะการดีไซน์อาหารให้สากลนั้นเป็นเรื่องง่าย ซึ่งเคล็ดลับอยู่ที่การศึกษา “ระบบการจัดการเชิงศิลปะ”
สุทธิพงษ์ เผยว่า ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจหลักการและทิศทางของศิลปะอาหาร ผู้เกี่ยวข้องด้านอาหารต้องยึดหลักมาตรฐานสากล อย่าง Fresh & Simply ซึ่งพิจารณาได้จากเชฟหรือพ่อครัวทำอาหารอร่อย สูตรเด็ดของพวกเขาคือการใช้วัตถุดิบที่สดใหม่ ส่วนความเรียบง่ายคือตรรกะของศิลปะ ซึ่งตรงกับเทรนด์แฟชั่นในตอนนี้ที่ว่า สูงสุดคืนสู่สามัญ
ทั้งนี้ ตัวอย่างผู้ทรงอิทธิพลด้านอาหารระดับโลก เช่น ในอังกฤษ Jamie Oliver สามารถผสมผสานความเป็นธรรมชาติและความทันสมัยของวัตถุดิบได้อย่างลงตัว ส่วนทางฝั่งอเมริกา ก็ต้องยกให้ Martha Stewart กับการใช้สไตล์ของตัวเองผลักดันภาพลักษณ์อาหารที่สดใหม่ ต่อด้วยออสเตรเลีย Donna Hay ใช้สีขาวเกลี้ยงเกลามาขับอาหารให้มีความโดดเด่น
นอกจากจะใช้สูตรสำเร็จของ “คน” แล้ว การสร้างสรรค์อาหารฟ้องด้วยภาพ ยังสามารถดึงความสำเร็จของ “แบรนด์สินค้า” อื่นๆมาเชื่อมโยงอ้างอิงได้ด้วย เช่น Muji ที่มีความเรียบง่ายแต่มีดีไซน์ซุกซ่อนอยู่ หรือ Origins สามารถสื่อได้ว่าทุกอย่างมีจุดกำเนิดที่ความเรียบง่าย
ถึงแม้จะมีตัวอย่าง แต่เราไม่อาจก๊อปปี้ได้ทั้งหมด ฉะนั้นสิ่งที่ว่า “เรียบ” สุทธิพงษ์กลับบอกว่าไม่ “ง่าย” เมื่อต้องเอาตัวตนของคนทำอาหารใส่เข้าไปด้วย
สร้างอาหารอย่างมี'สเต็ป'
ในหลักสูตรอบรมอาหารฟ้องด้วยภาพ ซึ่งจัดโดยฟู้ดสไตลิสต์คนเก่ง จะเน้นให้ผู้เรียนเริ่มศึกษาตั้งแต่พื้นฐาน ละลายพฤติกรรมเดิมๆของตัวเองเสียก่อน เพื่อปูทางรับพื้นฐานด้านการสื่อสารอาหาร ด้วยสื่อต่างๆ อาทิ สิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
ตามด้วยหลักสูตรอาหารสร้างเซเลบ (Celebrity) เนื่องจากธุรกิจอาหารสามารถสร้างแบรนด์ด้วยตัวเจ้าของเอง หากแต่ต้องสร้างคุณค่าในตัวเองให้สูงขึ้น
“เราจะสอนกระบวนการอย่างเป็นระบบ (System) และเป็นขั้นเป็นตอน ต้องเข้าใจพื้นฐานก่อนสร้างเนื้อหาให้เป็นสื่อ ทั้งงานเขียน การถ่ายภาพ วิธีการโปรโมท เชื่อมโยงบุคคลกับการทำอาหาร และการควบคุมตัวเองต่อสื่อทีวี แล้วจึงมาถึงการตอกย้ำแบรนด์ด้วยตัวเจ้าของ หรือทำตัวเจ้าของให้เป็นคนดัง” สุทธิพงษ์ กล่าวและว่า ตัวเขาเองก็จะใช้สีขาว-ส้มเป็นสีประจำตัว
ส่วนท้ายสุดคือหลักสูตรอาหารช่วยสังคม ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ให้คนในวงการอาหารได้เข้ามามีส่วนร่วมใช้อาหารเป็นสื่อ อย่างสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนและระดมความเห็นที่หลากหลายของกันและกัน โดยอาศัยระบบเข้ามาจัดการเช่นกัน โดยเปลี่ยนความมีชื่อเสียงหรือศักยภาพนั้นให้เป็นประโยชน์เพื่อสังคม ในลักษณะ CSR ขององค์กร
“แม้ผู้เรียนจะเป็นเจ้าของร้านข้าวแกง ก็สามารถสร้างตลาดของตัวเองได้ด้วยการหาข้อเด่น แล้วก้าวเป็นเซเลบที่ช่วยสังคมได้พร้อมๆ กัน โดยชูจุดเด่นว่า ที่มาของข้าวมาจากชุมชนเกษตรอินทรีย์ทางภาคอีสาน ได้มีโอกาสช่วยเหลือเกษตรกร เราไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศ แต่มันอยู่ที่กระบวนการสร้างคุณค่าให้กับอาหารของตัวเองอย่างแยบยล” ขาบ-สุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น